.

จีนมีความเสี่ยงที่จะเผชิญกับภาวะเงินฝืด หลังจากมีการเปิดเผยข้อมูลเงินเฟ้อที่ระดับใกล้ 0% ในเดือนพ.ค. ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวทำให้ผู้เชี่ยวชาญออกมาเรียกร้องให้ธนาคารกลางจีนตัดสินใจผ่อนคลายนโยบายการเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

 

สำนักงานสถิติแห่งชาติจีนรายงานในวันนี้ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่สำคัญ เพิ่มขึ้นเพียง 0.2% ในเดือนพ.ค. ซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าอาจเพิ่มขึ้น 0.3% และดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดต้นทุนสินค้าที่หน้าประตูโรงงาน ลดลง 4.6% ในเดือนพ.ค. ซึ่งรุนแรงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าอาจลดลง 4.3% เนื่องจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวลง รวมทั้งอุปสงค์ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศอ่อนแอลง

 

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ข้อมูลเงินเฟ้อที่มีการเปิดเผยล่าสุดสะท้อนให้เห็นว่า เศรษฐกิจจีนชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องในเดือนพ.ค. หลังจากที่ข้อมูลก่อนหน้านี้เปิดเผยให้เห็นว่า กิจกรรมในภาคการผลิตหดตัวลง, ยอดส่งออกร่วงลงเป็นครั้งแรกในรอบ 3 เดือน และการฟื้นตัวในตลาดที่อยู่อาศัยเริ่มอ่อนแอลง

 

สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้นักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำและที่ปรึกษาของรัฐบาลจีนออกมาเรียกร้องให้ธนาคารกลางจีนเร่งปรับลดอัตราดอกเบี้ย โดยนายหลิว หยวนชุน ประธานภาควิชาการเงินและเศรษฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้กล่าวว่า จีนควรปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อลดภาระด้านการเงินให้กับธุรกิจในภาคเอกชนและกระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยนายหลิวเป็นอดีตที่ปรึกษาของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง และนายหลี่ เค่อเฉียง อดีตนายกรัฐมนตรีจีน

 

ขณะที่นายเรย์มอนด์ เหยิง หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ฝ่ายกิจการจีนแผ่นดินใหญ่และจีนโพ้นทะเล (Greater China) ของบริษัทออสเตรเลีย แอนด์ นิวซีแลนด์ แบงกิง กรุ๊ปกล่าวว่า “รัฐบาลจีนจำเป็นต้องดำเนินการมากขึ้นเพื่อกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศ เราคาดว่าธนาคารกลางจีนอาจจะปรับลดสัดส่วนการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ (RRR) ภายในไตรมาส 2 ของปีนี้”

 

ที่มา  สำนักข่าวอินโฟเควสท์